วันว่างๆๆๆๆๆๆ

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

        ประเทศไทยมีเนื้อที่สำหรับทำการเกษตรอันดับที่ 48 ของโลกแต่ใช้ยาฆ่าแมลงเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้า และฮอร์โมนอันดับ 4 ของโลก ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินจากการนำเข้าสารเคมีปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท เกษตรกรเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะต้นทุนทางการเกษตรสูงกว่ามูลค่าผลผลิตที่ได้รับ ทำให้เกิดปัญหาเกษตรกรละทิ้งถิ่นฐาน ขายไร่ ขายนา เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมเข้าสู่เมือง จึงส่งผลกระทบต่อระบบพื้นฐานสังคมและเศรษฐกิจ ไทย

ทำความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์

รัฐบาลมีนโยบายที่พยายามจะแก้ไขปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตมา เป็นระบบเกษตรปลอดภัย ด้วยการลดอัตราการใช้สารเคมีและส่งเสริมเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งมีหลายรูปแบบและหนึ่งในนั้นคือ เกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคนิยมซื้อหาผลผลิตที่ได้จากเกษตรธรรมชาติมากยิ่งขึ้น มีอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลกแต่ผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องบริโภคพืชผลเกษตรที่ได้จากแปลงเกษตรอินทรีย์ ในขณะที่เกษตรกรหลายรายยังไม่เชื่อว่ากกระบวนการผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์จะช่วยเพิ่มผลผลิต ผลิตผลมีคุณภาพและได้ราคาดีมากกว่าเดิม

เกษตรอินทรีย์ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาแล้วพืชผักจะโตได้อย่างไร

คำตอบที่ดีที่สุดและตรงที่สุดคือ ดินดี หลักการสำคัญของเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติคือการว่าด้วยเรื่องของคุณภาพดิน ดินดีเป็นดินมีชีวิต มีธาตุอาหารสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มี จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ ปล่อยธาตุอาหารให้พืชและทำให้ดินมีความร่วนซุยอย่างพอเหมาะที่จะให้รากพืชชอนไชหาอาหารได้อย่างกว้างกวาง ซึ่งหมายความว่าพืชที่ได้รับอาหารอย่างสมดุลก็จะ มีความแข็งแรง ระบบรากทำงานเต็มประสิทธิภาพในการดูดซับพลังดินที่สะอาด (ปราศจากสารเคมีอันตราย) ได้ธาตุอาหารสูง ดูดซับพลังน้ำที่บริสุทธิ์
ผลที่ตามมาก็คือเกษตรกรจะได้ผลผลิตที่เติบโตแข็งแรงดี พืชผักมีคุณค่าทางโภชนาการสูง รสชาติอร่อยจำหน่ายได้ในราคาสูงเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งไม่มีผลกระทบที่เกิดจากสภาวะสารเคมีสะสมในร่างกาย

ผลกระทบของระบบเกษตรแบบสารเคมีหรืเกษตรเชิงเดี่ยวต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ

  1. ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง
  2. เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี แต่ผลผลิตกลับได้เท่าเดิม
  3. เกิดปัญหาโรคและแมลงระบาด เนื่องจากระบบนิเวศเสียสมดุล ธรรมชาติไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จึงเพิ่มความยุ่งยากให้เกษตรกรในเรื่องการป้องกันและกำจัด
  4. แม่น้ำและทะเลสาบถูกปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีทางการเกษตร และเกิดความเสื่อมโทรมของดิน
  5. พบสารปนเปื้อนในผลผลิตเกินปริมาณเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค
  6. สภาพแวดล้อมถูกทำลายเสียหายจนยากที่จะเยียวยาให้กลับคืนมาดังเดิม

ปุ๋ยสำหรับเกษตรอินทรีย์

ปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ เน้นให้ผลิตขึ้นด้วยวัสุดชีวภาพที่หาได้ในท้องถิ่นเพื่อมาทำเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้ ต้นพืชมี ความแข็งแรง สามารถต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตนเอง ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จึงปลอดภัยจากอันตรายของสารพิษตกค้าง และไม่ทำลายดิน น้ำ ส่งผลให้เกิดผลดีต่อระบบนิเวศ

ทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนที่ใส่ใจต่อสุขภาพตนเองคืออะไร?

ถ้าจะบอกว่าปลูกผักกินเองสิปลอดภัยที่สุดคงมีคนน้อยนักที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การซื้อหาผักสดๆ จากแหล่งผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อถือได้จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่เหมาะสมกับสภาพการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ผักที่ผ่านการปลูกด้วยกรรมวิธีแบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าอาหารที่ได้จากกระบวนการเกษตรอินทรีย์ คืออาหารที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ และระบบนิเวศ
ผู้ที่บริโภคผักเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะมีสุขภาพดีปลอดภัยจากสารเคมีแล้ว ยังได้ช่วยให้เกษตรกรไทยมีสุขภาพแข็งแรงและมีรายได้ที่มั่นคง และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

ผักปลอดสารพิษหรือผักอนามัยปลอดภัยแค่ไหน?

ผักปลอดสารพิษหรือผักอนามัยที่มักจะเห็นวางจำหน่ายอยู่ในซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำในบ้านเรา คือการปลูกผักที่ยังคงใช้สารเคมีแต่ถูกกำหนดให้ใช้ในระดับที่เหมาะสมตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวนั้นก็จำเป็นต้องให้เวลาสารเคมีเหล่านั้นเจือจางลง โดยการทิ้งช่วงเวลาก่อนตัดไปขายและแน่นอนว่าผู้บริโภคยังมีโอกาสสะสมของสารพิษเช่นเดียวกัน ผักปลลอดสาร เป็นประโยคการตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคสบายใจในระดับหนึ่งแต่สำหรับเมืองไทยนั้นยังไม่มีการตรวจสอบที่จะให้ความมั่นใจได้ว่าปลอดสารคือปลอดภัยแค่ไหน

เสียงสะท้อนจากเกษตรกร

มีพี่น้องเกษตรกรหลายรายประสบกับปัญหาเช่นนี้ ปัจจุบันสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงแม้จะทราบดีว่าเกษตรอินทรีย์มีคุณประโยชน์มากมายแต่ถ้าพื้นที่เกษตรกรรมรอบๆ แปลงของเรายังทำเกษตรเคมี สิ่งที่ เราทำก็ไปก็คงได้ผลไม่มากและอาจจะเสียหายมากกว่าเดิม
กรีนลาเต้ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ประเทศไทย และขอสรุปข้อแนะนำดังนี้
  1. ปลูกพืชเป็นแนวกั้นระหว่างแปลงผลผลิตเคมีกับแปลงเกษตรอินทรีย์ โดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เช่น แค ฝรั่ง กระถิน ไผ่ กล้วย เป็นต้น
  2. แบ่งสัดส่วนพื้นที่ปลูกพืชให้ชัดเจน เช่น ผลผลิตยืนต้นให้ปลูกรอบนอก ส่วนผักหรือพืชล้มลุกให้ปลูกด้านใน
  3. มีบ่อเก็บน้ำห่างจากการปนเปื้อนของแปลงเคมีกับแปลงเกษตรอินทรีย์
  4. ตรวจแปลผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของแมลงให้ใช้สารชีวภาพแทนสารเคมีฉีดฆ่าหรือเผาทำลาย
เมื่อเกษตรกรยึดแนวทางเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง 2-3 ปี ระบบนิเวศที่ถูกฟื้นฟูสภาพจะเริ่มดูแลตัวเองได้ซึ่งหมายความว่าผลผลิตของเกษตรกรจะได้ทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
เรียบเรียงโดย www.greenlattes.com และขอบคุณ : กรมวิชาการเกษตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพจ บุญแรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น