วันว่างๆๆๆๆๆๆ

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

เศรษฐกิจการผลิตการตลาดพืชผักอินทรีย์

 
 
การศึกษานี้เป็นการศึกษาถึงเศรษฐกิจการผลิตการตลาดของพืชผักอินทรีย์ โดยใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากการออกแบบสำรวจ สัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างที่ทำการผลิตพืชผักอินทรีย์มาตรฐาน และข้อมูลทุติยภูมิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่สามารถรวบรวมได้ในประเทศไทย และต่างประเทศผ่านระบบ INTERNET
 
วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อจัดทำข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการผลิตพืชผักอินทรีย์ที่มีอยู่น้อยและกระจัดกระจาย นำมาประกอบการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตพืชผักอินทรีย์มาตรฐานในประเทศไทย เปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญในตลาดโลก

ผลการศึกษาแสดงถึงศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย ไทยสามารถผลิตพืชผักอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองคุณภาพการตรวจสอบระบบและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (มกท.) ที่ได้รับการรับรอง (accreditation) จาก IOAS ซึ่งเป็นหน่วยงานของ International Federation of Organic Agriculture Movements (IFOAM)
 
การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตแสดงให้เห็นว่า เกษตรกรที่ทำการผลิตพืชผักอินทรีย์จะได้ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ต่อปี 22,389.61 บาท เทียบกับเกษตรกรที่ทำการผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษจะได้ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ต่อปี 20,533.23 บาท เกษตรกรที่ทำการผลิตพืชผักอินทรีย์จะได้ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ต่อปีสูงกว่าถึงไร่ละ 1,856.38 บาท
 
จากผลการศึกษาในภาพรวมแสดงถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยให้เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการค้าภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในระยะเริ่มต้นรัฐควรเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและอุดหนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ระบบภาษีที่อาจเกิดขึ้นได้หากการตรวจไม่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น