วันว่างๆๆๆๆๆๆ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ลิลลี่ไม้ดอกที่นิยมปลูก โดยไม่ใช้สารเคมี


ลิลลี่เป็นไม้ประเภทหัวมีถิ่นกำเนิดแถบทวีปเอเชียตอนกลาง มีหลายสายพันธุ์หลากรูปทรงและหลากสี ส่วนใหญ่ไม่มีกลิ่นยกเว้นบางชนิดจะมีกลิ่นหอม พันธุ์ลิลลี่ที่ปลูกเป็นไม้ตัดดอกในบ้านเรามี 5 ประเภท ได้แก่

1.  ลิลลี่ปากแตร หรือ Longiflorum hybrid และ trumpet hybrid ลักษณะคล้ายปากแตร โดยโคนกลีบจะเชื่อมติดกันแล้วแยกออกเฉพาะปลาย มี 6 กลีบ เดิมมีสีขาวและมีกลิ่นหอม แต่เมื่อมีการปรับปรุงพันธุ์ทำให้มีหลากสีขึ้น ได้แก่ สีเหลือง ชมพู ม่วง แต่ไม่มีกลิ่นหอม ลิลลี่ประเภทนี้ดอกอ่อนจะตั้งขึ้น เมื่อดอกแก่จะนอนลงขนานกับพื้นดิน พันธุ์ที่นำเข้ามาปลูก เช่น โกลเด้นฮาร์ชัน ฮิโนโมโต้ พิงค์ เพอร์เฟ็กชั่น สเปลเดอร์ และ ทรัมเป็ตเยลโลว์ เป็นต้น

2.  ลิลลี่ลูกผสมเอเชีย หรือ Asiatic hybrid เป็นประเภทที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกมากที่สุดกลีบดอกทั้ง 6 กลีบจะแยกออกจากกันไม่มีกลิ่นหอม ดอกมีทั้งชนิดที่มีจุดประเล็กน้อยและไม่มีเลย มีหลากสี ได้แก่ ขาว ครีม เหลือง ส้ม ชมพู แดง ลิลลี่ประเภทนี้ช่อดอกจะตั้งขึ้นไม่คว่ำหน้าเหมือนชนิดอื่นเมื่อให้ดอกแล้วจะเกิดหัวเล็ก ๆ ตามซอกใบ ซึ่งสามารถนำไปขยายพันธุ์เป็นต้นแม่ต่อไปได้ พันธุ์ที่นำเข้ามาปลูก เช่น คอนเนกติกัตคิง ออร์คิดบิวตี้ และ มองต์บลังก์

3.  ลิลลี่ลูกผสมตะวันออก หรือ Oriental (Japanese) hybrid กลีบดอกทั้ง 6 กลีบจะแยกออกจากกัน มีกลิ่นหอมแรง ลักษณะเด่นคือกลีบดอกด้านในคล้ายหนวดยื่นออกมาเป็นจำนวนมาก มีหลากสี ได้แก่ ขาว ชมพู แดง ลิลลี่ประเภทนี้จะออกดอกในแนวนอนขนานกับพื้นดินมีขนาดของใบกว้างกว่าพันธุ์อื่น ๆ พันธุ์ที่นำเข้ามาปลูก เช่น แอดแลนติกสตาร์ คาซาบลังก้า และ สตาร์กาเซอร์

4.  ลิลลี่ลายเสือ หรือ Tiger Lily (L.tigrinum) กลีบดอกทั้ง 6 กลีบจะแยกออกจากกันตั้งแต่โคนกลีบ ไม่มีกลิ่นหอม กลีบดอกชั้นในจะมีจุดประสีดำ มีหลากสี ได้แก่ เหลือง ส้ม ชมพู แดง ลิลลี่ประเภทนี้ช่อดอกจะคว่ำหน้าน้อยลง พันธุ์ที่ปลูก เช่น พิงค์ทริกรินัม และ เยลโล่ทริกรินัม

5.  ลิลลี่ดอย หรือ Thai native Lily (L. primulinum var. burmaniacun) กลีบดอกทั้ง 6 กลีบจะแยกออกจากกัน มีกลิ่นหอมแรงโดยเฉพาะช่วงกลางคืนที่มีอากาศหนาวเย็น เป็นลิลลี่พันธุ์พื้นเมืองของไทยอยู่ทางภาคเหนือตามดอยต่าง ๆ เช่น ดอยอ่างขาง ดอยอินทนนท์ และดอยปุย ลักษณะเด่นคือเมื่อดอกบานจะคว่ำหน้าลง ดอกสีเหลืองเข้ม มีปื้นสีน้ำตาลเข้มอยู่บริเวณใจกลางดอกและมีจุดประสีน้ำตาลอยู่มากมาย
การขยายพันธุ์
ลิลลี่ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แยกหัว และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่ที่นิยมและทำได้ง่ายตลอดทั้งปีคือ การแยกหัวไปปลูก โดยอาจแยกหัวย่อยที่เกิดจากส่วนใต้ดิน หรือเกิดตามซอกใบ หรือปักชำ ส่วนกลีบหัวก็ได้ แต่วิธีนี้อาจต้องนำหัวที่ได้ไปปลูกอีกหลายครั้งเพื่อให้มีขนาดโตพอที่จะให้ดอก หลังจากแยกกลีบหัวออกจากต้นแม่แล้วควรนำไปชำให้เร็วที่สุดเพื่อลดการสูญเสียน้ำ และอาจนำไปจุ่มกับน้ำสกัดชีวภาพสักครู่เพื่อให้รากงอกเร็วขึ้น การปลูกลิลลี่หากต้องการหลีกเลี่ยงเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศหรือเพื่อความสะดวกในการควบคุมแสงและอุณหภูมิควรปลูกลิลลี่ในโรงเรือนพลาสติก หากไม่สะดวกให้พยายามปลูกนอกฤดูเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาโรคเน่าที่จะตามมา
วิธีการแยกหัวและเก็บรักษา
สำหรับต้นลิลลี่ที่ต้องการใช้เป็นต้นแม่เพื่อขยายพันธุ์ หลังจากเก็บดอกแล้ว ควรทิ้งระยะให้ต้นแม่ผลิตหัวให้แข็งแรงต่อไปอีกประมาณ 2 เดือน ในระยะนี้ควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียมสูง และควรฉีดสมุนไพรป้องกันแมลงตามปกติจนถึงเวลาเก็บหัวให้ลดปริมาณน้ำลงก่อนการขุด เพื่อให้หัวดึงอาหารจากส่วนของลำต้นและใบมาสะสมไว้มากที่สุด หลังจากขุดหัวขึ้นมาแล้วให้นำไปล้างน้ำให้สะอาด
การเก็บรักษาให้นำพลาสติกใบใหญ่ผ่ากลางแล้วเจาะรูใช้รองก้นลัง แล้วเรียงหัวลิลลี่ให้เป็นระเบียบ จากนั้นโรยทับบาง ๆ ด้วยขุยมะพร้าวที่แช่น้ำจนอิ่มตัวแต่ก่อนจะนำมาใช้ควรผึ่งลมพอให้ชื้นเพียงหมาด ๆ ทำเป็นชั้น ๆ อย่างนี้จนถึงชั้นบนสุดให้โรยขุยมะพร้าวหนาประมาณ 6 นิ้ว แล้วปิดปากถุง นำไปเก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 4-5 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 เดือน จึงนำหัวไปปลูกได้
การเตรียมดินและแปลงปลูก
ก่อนปลูกควรมีการเตรียมดินหรือปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยขุดดินให้ลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ย่อยดินให้ละเอียดใส่อินทรีย์วัตถุที่สลายตัวแล้วอย่างเช่น เศษฟาง เปลือกถั่วลิสง ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อให้ดินมีความร่วนซุยสามารถเก็บความชื้นและมีการระบายน้ำดี ซึ่งปกติแล้วลิลลี่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย มีค่า pH5.5-7.5
แปลงที่ใช้ปลูกอาจยกร่องเตี้ย ๆ แล้วทำขอบแปลงให้สูงกว่าระดับแปลงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออกจากแปลงเวลารดน้ำ ก่อนปลูกควรรดน้ำดินให้ชุ่มทิ้งไว้ 1 วัน และเมื่อนำหัวพันธุ์ออกจากห้องเย็นแล้วควรนำไปปลูกทันที และควรคัดขนาดของหัวที่ใกล้เคียงกันปลูกในแปลงเดียวกัน เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวดอก การปลูกให้ปลูกจากหัวลึกประมาณ 2 นิ้ว ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 15×15 ซม. หลังจากกลบดินเรียบร้อยแล้วควรคลุมแปลงปลูกและรดน้ำให้ชุ่ม การคลุมแปลงจะช่วยรักษาความชื้นรักษาอุณหภูมิและช่วยป้องกันวัชพืช วัสดุที่ใช้คลุมแปลง เช่น ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง เปลือกถั่ว หรือวัสดุอื่นที่มี
การให้น้ำ
หลังจากปลูกควรให้ดินชั้นบนมีความชื้นแต่ไม่แฉะ เพื่อให้ดินกระชับหัวและรากไว้ และต้องระวังอย่าให้ดินแน่นจนทำให้โครงสร้างของดินเสีย ในช่วงที่พืชกำลังเจริญเติบโตควรให้น้ำในช่วงเช้า ซึ่งจะทำให้ลิลลี่นำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าในช่วงเย็น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคเชื้อราที่เกิดจากความชื้นได้อีกด้วย การให้น้ำควรให้น้ำมากพอที่จะซึมลงสู่ราก แต่ไม่ให้แฉะ เมื่อลิลลี่เริ่มแทงช่อดอกควรระวังอย่าให้น้ำโดนช่อดอก
การให้ปุ๋ย
ในระยะแรกลิลลี่ยังต้องการธาตุอาหารน้อย เนื่องจากหัวมีการสะสมธาตุอาหารมาพอสมควรหลังจากปลูกได้ประมาณ 3 สัปดาห์ ให้ใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง จนกระทั่งลิลลี่เริ่มแทงช่อดอก ควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมสูง หลังใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรรดน้ำตามทันที หรือฉีดพ่นด้วยน้ำหวานหมักจากผลไม้ ใช้ฉีดพ่นแบบฮอร์โมนพืช ให้ผลในการบำรุงดีมากโดยเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังออกดอก
การพยุงลำต้น
ในระยะที่ต้นลิลลี่กำลังเจริญเติบโตต้นที่อยู่ด้านข้างของแปลงมักมีปัญหาเรื่องต้นเอนจากการเบียดเสียดกัน การพยุงลำต้นจะช่วยให้ก้านช่อดอกไม่คดงอ วิธีที่นิยมคือใช้ตาข่ายขนาด 15×15 ซม. ขึงเหนือแปลงประมาณ 1-2 ชั้น แต่ถ้าหากตาข่ายสามารถเลื่อนขึ้นลงได้ตามการเติบโตของต้นให้ขึงเพียงชั้นเดียวก็เพียงพอ
การพรางแสงและควบคุมอุณหภูมิ
หากปลูกในโรงเรือนพลาสติกในช่วงหน้าร้อนโดยเฉพาะปลายเดือนมีนาคม-พฤษภาคมควรพรางแสงด้วยซาแรนหรือไม้ระแนงพรางแสงประมาณ 40% เพราะหากสภาพอุณหภูมิสูงเกินไปจะทำให้ดอกมีคุณภาพต่ำ ส่วนในช่วงหน้าหนาวไม่ว่าจะปลูกในโรงเรือนหรือปลูกกลางแจ้งควรนำวัสดุพรางแสงออก เพราะหากลิลลี่ได้รับแสงไม่เพียงพอจะทำให้ดอกฝ่อและร่วง ก้านดอกยาวผอม ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพของดอกตามมา อุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดการปลูกในช่วงกลางวันควรควบคุมให้อยู่ประมาณ 20 องศาเซลเซียส หากพรางแสงแล้วยังไม่ดีขึ้นอาจหาวิธีระบายอากาศช่วย แต่ต้องระวังไม่ให้ความชื้นในแปลงระเหยออกไปรวดเร็วเกินไปเพราะจะทำให้พืชสูญเสียความชื้นและเกิดอาการใบไหม้ได้
สำหรับอุณหภูมิในเวลากลางคืนควรอยู่ในช่วง 10-15 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส จะได้ดอกที่มีคุณภาพต่ำเล็กน้อย แต่หากสูงกว่า 20 องศาเซลเซียส ดอกจะไม่มีคุณภาพ เช่น ก้านดอกสั้นและมีช่อดอกต่อก้านน้อย ยกเว้นลิลลี่ในกลุ่มลูกผสมตะวันออกต้องควบคุมอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวให้อยู่ 16-17 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันใบร่วงและใบเป็นสีเหลือง
การตัดดอก
การตัดดอกลิลลี่นิยมตัดเมื่อช่อดอกยังตูมเพื่อลดความเสียหายขณะขนส่ง โดยให้ตัดขณะที่ดอกแรก ๆ เริ่มเห็นสีชัดเจนแต่ยังไม่แย้ม ถ้าดอกบานต้องเด็ดอับละอองเกสรออกเพื่อไม่ให้ไปติดกลีบดอก ความยาวของการตัดให้วัดจากส่วนของลำต้นคือเหลือความยาวไว้ครึ่งหนึ่งของความยาวลำต้นเดิม หรือควรให้เหลือใบไว้ที่ต้นอย่างน้อย 10 ใบ เพื่อให้ต้นสามารถสร้างหัวสำหรับการขยายพันธุ์ต่อไปได้ วิธีตัดให้ตัดเฉียงเป็นเส้นทะแยงมุม เมื่อตัดแล้วควรนำไปแช่น้ำ 2-3 ชั่วโมง
โรค-แมลงและการป้องกันกำจัด
โรคของลิลลี่ที่สำคัญและพบมากได้แก่ โรคโคนต้นเน่า โรครากเน่า โรคใบจุด โรคที่เกิดจากเชื้อราไรซอคโทเนีย โรคหัวและกลีบเน่า
1.  โรคโคนต้นเน่า เกิดจากเชื้อราที่อยู่ในดิน โดยเฉพาะดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี อาการของโรคที่พบคือ ต้นจะชะงักการเติบโตหรือเหี่ยวอย่างฉับพลัน ใบล่างจะเป็นสีเหลือง โคนต้นจะมีสีน้ำตาลอมม่วง ต้นเหนือดินมีจุดและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ต้นอ่อนแอ ล้มง่าย
การป้องกัน ควรปรับปรุงดินให้มีการระบายน้ำดี อย่าปล่อยให้ดินมีน้ำขังชื้นเกินไป และทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้งไป
2.  โรครากเน่า เกิดจากเชื้อราที่อยู่ในดิน โดยเฉพาะดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี อาการของโรคที่พบคือ ต้นที่เป็นโรคจะเตี้ยกว่าต้นอื่น ๆ ในแปลง ใบแคบและสีหม่น ต้นมักจะโค้งงอเล็กน้อย ดอกจะร่วงมากกว่าต้นอื่น ๆ ดอกเล็กและไม่ค่อยบานเต็มที่ สีไม่สด หากขุดต้นขึ้นมาดูจะพบหัวและรากมีแผลเน่าลักษณะใสสีน้ำตาลอ่อน
การป้องกัน เมื่อพบว่าเกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้นให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น โดยมีการปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยคอกสำหรับต้นที่เป็นโรคให้ถอนและขุดดินในหลุมไปเผา จากนั้นใช้ปูนขาวผสมน้ำราดลงไปในดินอีกครั้ง
3.  โรคใบจุด เกิดจากเชื้อราระบาดมากในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่มีน้ำค้างมาก แต่ในสภาพอากาศแห้งมักไม่ค่อยพบโรคนี้ อาการเริ่มแรกมักจะเกิดกับใบก่อนส่วนอื่น โดยมีจุดสีน้ำตาลเข้มและขยายออกไปอย่างรวดเร็วและแห้งตายในที่สุด ส่วนดอกที่ติดเชื้อกลีบจะบวมโป่ง มีจุดกลมช้ำน้ำสีเทาและเนื้อเยื่อตาย อาการที่กับส่วนใบ
การป้องกัน ตัดทำลายใบหรือดอกที่เป็นโรคทิ้ง และไม่ควรให้น้ำในตอนเย็น เพราะจะทำให้เชื้อราแพร่กระจายหรือเจริญเติบโตได้ง่าย
4.  โรคที่เกิดจากเชื้อราไรซอคโทเนีย เกิดจากเชื้อราที่อยู่ในดิน โดยเฉพาะดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี อาการของโรคที่พบคือ หากได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อย ใบล่าง ๆ ที่ติดอยู่ใกล้พื้นดินจะเป็นลายจุดสีน้ำตาลอ่อน ต้นชะงักการเติบโตเล็กน้อย ถ้าได้รับเชื้อรุนแรงต้นจะงอกช้า ใบอ่อนและยอดจะถูกทำลาย ต้นจะมีรากขึ้นน้อย ถ้ามีดอกตูมจะเหี่ยวไปตั้งแต่ระยะแรก ๆ
การป้องกัน เมื่อพบว่าเกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้นให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นโดยมีการปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยคอก สำหรับต้นที่เป็นโรคให้ถอนและขุดดินในหลุมไปเผา จากนั้นใช้ปูนขาวผสมน้ำราดลงไปในดินอีกครั้ง
5.  โรคหัวและกลีบเน่า เกิดจากเชื้อราที่อยู่ในดิน หรือเชื้อราที่ติดมากับหัวหรือต้น อาการของโรคที่พบคือ ต้นจะโตช้า ใบมีสีเขียวอ่อน ต้นใต้ดินมีรอยสีน้ำตาลอมส้มถึงน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อกลับหัวเริ่มเน่า และอาจขยายเข้าไปถึงส่วนในลำต้น ต่อมาจะเน่าและตาย
การป้องกัน เมื่อพบว่าเกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้นให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น โดยมีการปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยคอก สำหรับต้นที่เป็นโรคให้ถอนและขุดดินในหลุมไปเผา
แมลงศัตรูลิลลี่ แมลงศัตรูลิลลี่ที่สำคัญ คือ เพลี้ยอ่อน ซึ่งจะเข้าทำลายดูดน้ำเลี้ยงของลิลลี่ที่ใบและดอก
การป้องกันกำจัด วิธีที่ดีที่สุดคือ ดูแลรักษาต้นลิลลี่ให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง หมั่นกำจัดวัชพืช ทำความสะอาดต้น บำรุงปุ๋ย กำจัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย หรือฉีดพ่นน้ำหมักสะเดาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า ฟ้าทะลายโจร พริกขี้หนู หรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชทุก ๆสัปดาห์ ก่อนที่จะมีโรคแมลงรบกวน และควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนบำรุงดินชนิดอื่น เพื่อตัดวงจรของโรคแมลง และให้มีการใช้ประโยชน์จากดินอย่างเต็มที่ เพราะพืชแต่ละชนิดมีรากลึกและต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น