วันว่างๆๆๆๆๆๆ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

วิธีการปลูกทานตะวัน



ทานตะวันเป็นพืชน้ำมันที่สำคัญทางเศรษฐกิจรองจากถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมัน ทานตะวันค่อนข้างทนแล้งได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับพืชไร่ชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และถั่วเขียว เมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่วนกากที่ได้หลังจากสกัดน้ำมันแล้วมีโปรตีน 40-50 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันทานตะวันมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวประมาณ 88 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์ม และมีสาร antioxidants กันหืนได้ดีสามารถเก็บไว้ได้นานกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น เนื่องจากน้ำมันทานตะวันมีคุณค่าสูง จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อการบริโภค และใช้ในอุตสาหกรรมเช่น น้ำมันชักเงา น้ำมันหล่อลื่น สีทาบ้าน ส่วนลำต้นทานตะวันสามารถนำไปทำกระดาษคุณภาพดี

ปัญหาของพืช ข้อจำกัด และโอกาส

• ขาดพันธุ์คุณภาพดีของทางราชการ แม้ว่าหลายหน่วยงานได้ทำการวิจัย ทานตะวันมานานกว่า 30 ปี แต่ยังไม่มีพันธุ์ทานตะวันที่จะส่งเสริมให้ เกษตรกรปลูก
• ราคาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างสูงประมาณ 180-240 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็น 20-25 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิต
• การปลูกทานตะวันในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
• ผลผลิตทานตะวันค่อนข้างต่ำ

พันธุ์

การเลือกพันธุ์
• ผลผลิตสูง คุณภาพดี และตรงตามความต้องการของตลาด
• ต้านทานต่อศัตรูพืช
• เจริญเติบโตดี เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ปลูก

พันธุ์ที่นิยมปลูก

พันธุ์สำหรับใช้สกัดน้ำมัน
แปซิฟิก 33
เป็นพันธุ์ลูกผสมนำเข้าจากต่างประเทศ มีความสามารถในการผสมตัวเอง เปอร์เซ็นต์ติดเมล็ด 96 เปอร์เซ็นต์ อายุดอกบาน 58 วัน อายุเก็บเกี่ยว 92 วัน เส้นผ่าศูนย์กลางจานดอก 13 เซนติเมตร ผลผลิต 218 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนัก 1000 เมล็ด 49 กรัม เมล็ดสีดำลายเทา น้ำมันในเมล็ด 39 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์เชียงใหม่ 1
เป็นพันธุ์ผสมเปิด (พันธุ์สังเคราะห์) ที่พัฒนาขึ้นในประเทศ เปอร์เซ็นต์ติดเมล็ด 90 เปอร์เซ็นต์ อายุดอกบาน 58 วัน อายุเก็บเกี่ยว 100 วัน เส้นผ่าศูนย์กลางจานดอก 15 เซนติเมตร ผลผลิต 203 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิต 203 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนัก 1000 เมล็ด 48 กรัม เมล็ดสีดำ น้ำมันในเมล็ด 35 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์สำหรับใช้ขบเคี้ยว
พันธุ์แม่สาย
เป็นพันธุ์ผสมเปิด อายุดอกบาน 64 วัน ขนาดจานดอกค่อนข้างใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 19 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 107 วัน ให้ผลผลิตดีที่สุดในเขตภาคเหนือ 309 กิโลกรัมต่อไร่ มีขนาดเมล็ดค่อนข้างใหญ่ ขนาดเมล็ดหลังกะเทาะ กว้างx ยาว x หนา เท่ากับ 1.3 x 0.5 x 0.2 เซนติเมตร น้ำหนัก 1000 เมล็ด 112 กรัม น้ำมันในเมล็ดค่อนข้างต่ำ 33 เปอร์เซ็นต์

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

• พื้นที่ดอน หรือที่ลุ่มไม่มีน้ำท่วมขัง มีความลาดเอียงไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์
• ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร
• ดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว หรือดินเหนียว มีการระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศดี
• ดินควรมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรีย์วัตถุไม่ต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์
• ค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 6.0-7.5
• อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 18-35 องศาเซลเซียส
• ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 800-1,200 มิลลิเมตรตลอดปี

การปลูก

ฤดูปลูก
• ในสภาพไร่ ปลูกในช่วงปลายฤดูฝน เดือนกันยายน-กลางเดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนตกกระจายสม่ำเสมอตลอดช่วงฤดูปลูก 400-600 มิลลิเมตร
• ในสภาพนา ปลูกในช่วงฤดูแล้ง เดือนตุลาคม-ธันวาคม
• ในสภาพไร่ที่มีน้ำชลประทาน สามารถปลูกในช่วงดังกล่าวได้เช่นกัน

การเตรียมดิน
• ในสภาพไร่ ไถดะลึก 30-35 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7 วัน แล้วไถพรวนดินด้วยผาล 7 อีกครั้งหนึ่ง
• ในสภาพนา ไถดะลึก 20-25 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7 วัน แล้วไถพรวนดินด้วยผาล 7 อีกครั้ง ยกร่องปลูก อาจเป็นร่องสำหรับ ปลูกแถวเดียว หรือแถวคู่ โดยยกร่องกว้าง 1.5 เมตร

วิธีการปลูก
ระยะปลูก 75 x 25 เซนติเมตร หยอดเมล็ด 2 เมล็ดต่อหลุม ลึก 4-5 เซนติเมตร แล้วกลบหลุม ถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุมหลังงอกแล้ว 10 วัน รวมประมาณ 8,533 ต้นต่อไร่

การดูแลรักษา

การให้ปุ๋ย
• ดินร่วนทราย หรือดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์ ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-8 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่พร้อมปลูก (รองก้นร่อง หรือก้นหลุม) 25 กิโลกรัม และอีกครึ่งหนึ่งให้ครั้งที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยข้างแถวแล้วกลบ เมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วันหลังงอก หรือสูตร 16-8-8 อัตรา 60-70 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งครึ่ง ครึ่งแรกใส่รองก้นร่องพร้อมปลูก และครั้งที่ 2 โรยข้างแถวแล้วพรวนกลบ เมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วันหลังงอก
• ดินร่วนสีน้ำตาล ให้ปุ๋ยสูตร 20 - 20 - 0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 16-20-0 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมปลูก และที่อายุ 20-25 วันหลังงอก ให้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยข้างแถวแล้วกลบ
• ดินเหนียวสีดำ ให้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ พร้อมปลูก รองก้นหลุม 25 กิโลกรัม และอีกครึ่งหนึ่ง ให้ครั้งที่ 2 โดยโรยข้างแถวแล้วกลบ เมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วันหลังปลูก
• ดินเหนียวสีแดง ให้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่พร้อมปลูก (รองก้นร่อง หรือก้นหลุม) 25 กิโลกรัม และให้ครั้งที่สองอีก 25 กิโลกรัมเมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วันหลังงอก

การให้น้ำ
• ในสภาพนา หรือในสภาพไร่ การปลูกในช่วงฤดูแล้ง โดยการให้น้ำ ชลประทาน ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในปริมาณ 30-35 มิลลิเมตรต่อครั้ง ทุก ๆ 10-14 วัน และหยุดให้น้ำเมื่อสิ้นสุดระยะสร้างเมล็ด หรือประมาณ 20-25 วันหลังดอกบานแล้ว รวม 6-7 ครั้งตลอดฤดูปลูก
• ในกรณีที่ให้น้ำตามร่องระหว่างแถวปลูก ควรให้น้ำสูงระดับ 2 ใน 3 ของระดับความลึกของร่อง หลังให้น้ำแล้ว ไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมแปลงปลูก เกิน 24 ชั่วโมง

โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

โรคใบจุดหรือใบไหม้
เกิดอาการใบจุดเล็กสีน้ำตาลมีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล จุดที่ขยายใหญ่มี รูปร่างไม่แน่นอน และทำให้เกิดใบไหม้ ต่อมาแผลจุดจะแพร่กระจาย ไปยังทุกส่วนของต้นทานตะวันที่อยู่เหนือพื้นดิน ตั้งแต่ใบ ก้านใบ ลำต้น กลีบเลี้ยง กลีบดอก และจานดอก เชื้อเข้าทำลายจากส่วนต่าง ๆ ของต้นทานตะวันแล้วแพร่กระจายขึ้นสู่ยอด ทำให้ต้นทานตะวันไหม้ แห้ง และแก่ก่อนกำหนด จานดอกเล็ก เมล็ดลีบ ผลผลิตต่ำ ควรกำจัดซากพืชที่ เป็นโรคด้วยการเผาทำลาย หรือนำออกจากแปลง

โรคเน่าดำหรือชาโคลรอท
ต้นทานตะวันที่มีการติดเชื้อจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ ใบเหี่ยวลู่ลงแห้งติดคาต้น ลำต้นส่วนที่ติดผิวดินเกิดแผลสีน้ำตาลดำลุกลามจากโคนต้นไปตามส่วนต่าง ๆ ของลำต้นและราก เมื่อผ่าดูภายในจะพบฝุ่นผงเมล็ดกลมเล็กสีดำหรือเทาดำกระจายอยู่ในเนื้อเยื่อพืชทั่วทุกส่วนและปิดกั้นขวางทางลำเลียงน้ำและอาหาร ทำให้ต้นทานตะวันเหี่ยวแห้งตายควรถอนและเผาทำลายต้น ทานตะวันที่เป็นโรคและไม่ควรปล่อยให้ต้นทานตะวันขาดน้ำรุนแรงในช่วงที่อากาศ ร้อนจัดและความชื้นในดินต่ำ

โรคใบหงิก
ใบหงิกงอเป็นรูปถ้วยหงายตั้งแต่ใบยอดลงมาจนถึงกลางต้น ด้านล่างใบจะพบลักษณะของเส้นกลางใบและเส้นแขนงโป่งพองจนเห็นได้ชัด บริเวณเนื้อใบจะมีเส้นใบฝอยสีเขียวเข้มกระจายทั่วไป ทำให้ใบหดย่น ต้นแคระแกร็นจนไม่สามารถให้ดอก ในกรณีที่ให้ดอก ดอกอาจมีรูปร่างผิดปกติเมื่อพบทานตะวันที่เป็นโรค ควรถอนออกจากแปลงปลูกและนำไปทำลาย และควบคุมการแพร่ระบาดของแมลงปากดูด ได้แก่ แมลงหวี่ขาว

แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

หนอนเจาะสมอฝ้าย
กินเมล็ดและเจาะจานดอก ทำให้ดอกเน่าเสียหาย การทำลายรุนแรง ผลผลิตจะเสียหายมาก ควรใช้สารไตรอะโซฟอส และคลอร์ไพริฟอส ฉีดพ่น

เพลี้ยจักจั่น
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยชอบดูดกินน้ำเลี้ยงที่ด้านใต้ใบ ทำให้ใบพืชหด หงิกงอ ขอบใบม้วนขึ้นด้านบน ถ้าระบาดรุนแรงจะทำให้ขอบใบแห้งหรือใบไหม้ ผลผลิตลดลง ควรใช้สารคาร์โบซัลแฟน คลอไพริฟอส

การป้องกันกำจัดวัชพืช
• เก็บเศษซากวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลง ก่อนปลูกทานตะวัน
• กำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานคน หรือเครื่องจักรกลเมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วัน คลุมดินด้วยเศษซากพืชหรือฟางข้าวทันทีหลังปลูก
• ในกรณีที่การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจเลือกใช้วิธีพ่นสารกำจัดวัชพืช

การเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวทานตะวันตามช่วงอายุของพันธุ์ที่ปลูก หรือเมื่ออายุประมาณ 90- 120 วัน หรือหลังจากจานดอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้วประมาณ 7-14 วัน โดยใช้กรรไกรตัดจานดอก โดยเลือกเฉพาะดอกที่สมบูรณ์

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
• นำจานดอกที่เก็บเกี่ยวแล้วตากแดด 1-2 แดด บนลานซีเมนต์ หรือตาก บนผืนผ้าใบและคลุมกองจานดอกทานตะวันด้วยผืนผ้าใบในเวลากลางคืน เพื่อป้องกันน้ำค้าง
• กะเทาะเมล็ดจากจานดอก โดยใส่จานดอกในถุงผ้า หรือกระสอบแล้ว ใช้ท่อนไม้ทุบ หรือใช้เครื่องนวดถั่วเหลืองที่ดัดแปลงแล้วความเร็วรอบ 200 -350 รอบต่อนาที
• นำเมล็ดที่กะเทาะแล้วไปตากแดด 1-2 แดด เพื่อลดความชื้นในเมล็ด ให้เหลือประมาณ 12-14 เปอร์เซ็นต์ แล้วทำความสะอาดเมล็ด
• บรรจุเมล็ดที่ได้ในกระสอบป่านที่ไม่ชำรุด สะอาด
• ตัดแต่งปากกระสอบให้เรียบร้อย และเย็บปากกระสอบด้วยเชือกฟาง
• ควรวางกระสอบที่บรรจุเมล็ดทานตะวันในที่ร่ม บนพื้นที่มีแผ่นไม้รอง

การขนส่ง
• ระหว่างการขนส่ง ไม่ควรให้เมล็ดทานตะวันถูกความชื้น
• รถบรรทุกต้องสะอาด และเหมาะสมกับปริมาณเมล็ดทานตะวัน
• ไม่ควรเป็นรถที่ใช้บรรทุกดิน สัตว์ มูลสัตว์ ปุ๋ยเคมี หรือสารป้องกัน กำจัดศัตรูพืช เพราะอาจมีการปนเปื้อน ยกเว้นจะทำความสะอาดอย่าง เหมาะสม ก่อนนำมาบรรทุก
• กรณีมีการขนส่งเมล็ดทานตะวันในช่วงฤดูฝน ต้องมีผ้าใบคลุม เพื่อป้องกัน เมล็ดทานตะวันถูกความชื้น และได้รับความเสียหาย

ปริมาณกรดไขมันในน้ำมันพืชที่สำคัญ
รายการ กรดไขมันไม่อิ่มตัว กรมไขมันอิ่มตัว กรดลิโนเลอิค
น้ำมันดอกคำฝอย

น้ำมันข้าวโพด

น้ำมันเมล็ดทานตะวัน

น้ำมันถั่วเหลือง

น้ำมันรำข้าว

น้ำมันงา

น้ำมันเมล็ดฝ้าย (นุ่น)

น้ำมันถั่วลิสง

น้ำมันปาล์ม
87

84

83

80

80

80

71

76

49
8

10

12

15

16

14

25

18

45
72

53

63

52

37

42

50

29

8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น