วันว่างๆๆๆๆๆๆ

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

คะน้าอินทรีย์

คะน้า (Chinese Kale) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica albograba Bailey ผักคะน้าเป็นผักอายุ 2 ปี แต่ปลูกเป็นผักฤดูเดียว อายุตั้งแต่หว่านจนถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 45-55 วัน ผักคะน้าสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีแต่เวลาที่ปลูกได้ผลดีที่สุดอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน คะน้าสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความเป็นกรด-ด่างระหว่าง 5.5-6.8 และมีความชื้นในดินสูงสม่ำเสมอ

ภาพ ลักษณะแปลงปลูกผักคะน้าอินทรีย์  อำเภอแม่เมาะ  จังหวัดลำปาง
                จากการสัมภาษณ์เกษตรกรจำนวน  3  ราย  คือ  สวนร่วมสมัย  ตำบลเขาวงกต  อำเภอแก่งหางแมว  จังหวัดจันทบุรี  คุณสุนันท์  ชมดี  เขาค้อทะเลภู  อำเภอเขาค้อ  จังหวัดเพชรบูรณ์  และคุณรัศภัธ  ยิ่งสุขสันติสุข  อำเภอแม่เมาะ  จังหวัดลำปาง  สรุปวิธีการปลูกและการดูแลรักษาผักคะน้าอินทรีย์ได้ดังนี้

การเตรียมดินในแปลงเพาะกล้า
                แปลงเพาะกล้าควรไถและพรวนดินให้ละเอียด ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดิน หลังจากนั้นจึงคลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว ในอัตรา 2-4 ตัน/ไร่ พรวนย่อยดินให้ละเอียดโดยเฉพาะผิวหน้าดิน เพื่อป้องกันมิให้เมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กตกในดินลึกเกินไป

การเพาะกล้า
                หลังจากเตรียมแปลงเพาะกล้าแล้ว หว่านเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง แล้วกลบด้วยปุ๋ยหมักหนา 0.5-1.0 เซนติเมตร เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่มคลุมด้วยฟางบางๆ เมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ 15-20 วัน จึงย้ายลงแปลงปลูก

การเตรียมดินแปลงปลูก
                ทำการเตรียมแปลงปลูกเช่นเดียวกับแปลงเพาะกล้า ยกแปลงปลูกสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 1เมตร ยาวตามความยาวของพื้นที่ จัดระยะปลูก 50x50 เซนติเมตร (แถวคู่) โดยขุดหลุมลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยหมักรองก้นหลุม 200 กรัม/ หลุม  แล้วจึงย้ายกล้าลงปลูก  และรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา
                การใส่ปุ๋ยหลังจากปลูกคะน้าแล้ว 20 วันควรใส่ปุ๋ยหมักครั้งแรก และใส่ปุ๋ยหมักครั้งที่  2 เมื่อคะน้ามีอายุ 30 วันหลังปลูก โดยใส่ปุ๋ยหมักอัตรา 300-500 กิโลกรัม/ไร่ โดยโรยข้างต้นคะน้าห่างประมาณ 15 เซนติเมตร หลังจากใส่ปุ๋ยแล้วต้องพรวนกลบปุ๋ยลงดิน และควรฉีดพ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพ (จากพืชและสัตว์) ร่วมกับฮอร์โมนไข่อัตรา 50-100 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
                การให้น้ำ ควรรดน้ำเช้าเย็น คะน้าเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ เพราะต้นคะน้ามีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้นคะน้าที่ขาดน้ำจะชะงักการเจริญเติบโต
 

การจัดการศัตรูผักคะน้า
                การกำจัดวัชพืชในแปลงคะน้าทำได้โดยการถอน หรือใช้จอบพรวนดินกำจัดวัชพืช ควรทำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ  มีความจำเป็นมาก  เนื่องจากต้นพืชประธานต้องเติบโต  แข็งแรง  สามารถต่อสู้  แข่งขันกับวัชพืชต่อไปได้              
แมลงศัตรูที่สำคัญของคะน้า  ได้แก่
1. หนอนกระทู้ผัก(Spodoptera  litura) มีชื่อเรียกอื่น ๆ  อีกได้แก่  หนอนกระทู้ยาสูบ  หนอนกระทู้ผักอื่น ๆ  เช่น  กวางตุ้ง  กะหล่ำดอก  กะหล่ำปลี  บร็อคโคลี่  ผักกาดขาวปลี  ผักกาดหัว  หนอนกระทู้ผัก      มีลำตัวอ้วนป้อม  มีจุด  สีดำใหญ่ตรงปล่องที่  3  แม่ผีเสื้อจะวางไข่  เป็นกลุ่มปกคลุมด้วยขนสีฟางข้าว     กลุ่มไข่  มีอายุ  3-4  วันก็จะฟักเป็นตัวอ่อนอยู่รวมกับเป็นกลุ่ม  แทะกินผิวใบก่อน  ต่อมาจึงแยกย้ายกันไปกัดกินใบ  เมื่อพ้นวัยที่  2  ตัวหนอนโตเต็มที่มีขนาด  3-4  เซนติเมตร  กัดกินใบคะน้าอยู่  10-14  วัน จึงเริ่มเข้าดักแด้ในดินระยะดักแด้  7-10 วัน  ก็เจริญเป็นผีเสื้อขนาดกลางเมื่อกางปีก  กว้าง  3-3.5  เซนติเมตร        ปีกสีน้ำตาลปีกคู่หน้ามีเส้นสีเหลืองพาดหลายเส้น  พบทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย  ระบาดทั่วไปไม่จำกัดฤดูปลูก
ภาพที่  2  ภาพหนอนกระทู้ผัก

เกษตรกรสามารถป้องกันกำจัด  โดยหมั่นตรวจแปลงผักคะน้า  ถ้าพบกลุ่มไข่  ให้รีบจับทำลาย  เพราะกลุ่มไข่  1  กลุ่ม  จะฟักเป็นหนอน  ได้หลายร้อยตัว  เนื่องจากการผลิตคะน้าอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี     ฉีดพ่นแต่จะปล่อยให้มีแมลงธรรมชาติชนิดอื่น ๆ  มาควบคุมกันเอง  โดยในปีแรก ๆ  ที่เริ่มโครงการปลูก   ผักอินทรีย์  ผักจะเสียหายมาก  ได้ผลผลิตน้อย  แต่ปีที่  3  เป็นต้นไป  แมลงธรรมชาติในแปลงผักจะมีปริมาณมากขึ้น  โดยพบว่า  ผักคะน้า  มีใบแหว่งหรือขาดเป็นรูพรุนลดลง  สอดคล้องกับรายงานของ     สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนที่รายงานว่า  หนอนกระทู้ผัก  มีศัตรูธรรมชาติเป็นพวกแตนเบียนหนอน     ซึ่งมีขนาดเล็กมาก  คอยทำลายอยู่  ถ้าเกษตรกรไม่ฉีดพ่นสารเคมี  ก็จะทำให้ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้  มีปริมาณเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันมวนตัวห้ำจำพวกมวนพิฆาตก็จะเพิ่มปริมาณคอยทำลายหนอนกระทู้ผักอีกทาง       หนึ่งด้วย
การป้องกันกำจัดแมลงเหล่านี้  เกษตรกรจะไม่ใช้สารเคมีฆ่าแมลงฉีดพ่น  แต่จะปล่อยให้มีแมลงธรรมชาติชนิดอื่น ๆ  มาควบคุมกันเอง  โดยในปีแรก ๆ  ที่เริ่มโครงการปลูกผักอินทรีย์  ผักจะเสียหายมาก ได้ผลผลิตน้อย  แต่ปีที่  3  เป็นต้นไป  แมลงธรรมชาติในแปลงผักจะมีปริมาณมากขึ้น  โดยพบว่า  ผักคะน้ามีใบแหว่งหรือขาดเป็นรูพรุนลดลง
 ภาพที่  3  แสดงหนอนกระทู้กัดกินใบคะน้า

2. หนอนใยผัก(Diamond back moth)  ชื่อวิทยาศาสตร์: Plutella xylostella (Curt.)
พืชอาหาร: พืชตระกูลกะหล่ำทุกชนิด
การจัดการแมลงชนิดนี้  ทำได้โดย
1. ใช้วิธีกล คือ เก็บตัวหนอนทำลาย
2. อนุรักษ์แตนเบียนไข่ของหนอนใยผักในแปลง
3. ใช้เชื้อ  Bt  (Bacillus thrurigiensis)  ควรรีบใช้เมื่อพบไข่หรือหนอนวัย  2-3  จะได้ผลดี
4. ฉีดพ่นด้วยสารสกัดสะเดา

3. หนอนคืบผัก/หนอนคืบกะหล่ำ(Cabbage looper)  ชื่อวิทยาศาสตร์: Trichoplusia ni Hubner
พืชอาหาร: กะหล่ำดาว กะหล่ำปลีหัวใจ  ผักกาดขาวปลี  บร็อคโคลี่  ผักกาดหางหงส์
การจัดการแมลงชนิดนี้  ทำได้โดย
1. ใช้วิธีกล คือ เก็บตัวหนอนทำลาย
2. ใช้เชื้อ Bt  (Bacillus subtilis)  ควรรีบใช้เมื่อพบไข่หรือหนอนที่เพิ่งฟัก
3. ฉีดพ่นด้วยสารสกัดสะเดา

4. หนอนกระทู้หอม (Beet armyworm)  ชื่อวิทยาศาสตร์: Spodoptera exigua Hubner
พืชอาหาร: สามารถทำลายพืชได้หลายชนิด เช่น พืชตระกูลกะหล่ำ พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด
การจัดการแมลงชนิดนี้  ทำได้โดย
1. ใช้วิธีกล โดยเก็บกลุ่มไข่ และตัวหนอนกระทู้หอมที่พบในแปลงทำลายจะเป็นการช่วยลดการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ใช้เชื้อ Bt (Bacillus subtilis)  หรือใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอมฉีดพ่น
3. ฉีดพ่นด้วยสารสกัดสะเดา

5. หนอนเจาะยอดกะหล่ำ  (Cabbage webworm)   ชื่อวิทยาศาสตร์: Hellula undalis F.
พืชอาหาร:  พืชตระกูลกะหล่ำ
การจัดการแมลงชนิดนี้  ทำได้โดย
1. กำจัดเศษซากพืช และขุดดินตากแดดเพื่อกำจัดดักแด้
2. ฉีดพ่นเชื้อ Bt (Bacillus subtilis)  เมื่อพบไข่และตัวหนอน
3. ฉีดพ่นด้วยสารสกัดสะเดา

6. ด้วงหมัดผัก / ด้วงหมัดกระโดด(Vegetable flea beetle)  ชื่อวิทยาศาสตร์: Phyllotreta sinuate Step. (ชนิดแถบลาย)  Phyllotreta chontalica Dueriv. (ชนิดสีน้ำเงิน)
พืชอาหาร: พืชตระกูลกะหล่ำ ผักกาดหัว ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดที่มีกลิ่นฉุน
การจัดการแมลงชนิดนี้  ทำได้โดย
1.  ทำการกำจัดวัชพืชในแปลงหรือบริเวณแปลง จะช่วยบรรเทาการระบาดมิให้รุนแรงมากได้ เพราะด้วงหมัดอาศัยเป็นแหล่งกำเนิดและเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณขึ้นอยู่ตลอดเวลา และรวมทั้งการกำจัดต้นพืชที่เก็บเกี่ยวไม่หมดออกไป การไถ พรวน หรือตากดินหลังไถ ก็จะช่วยทำลายตัวอ่อน และดักแด้ที่อยู่ในดินได้
2. ปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชอาหารด้วงหมัดผักสลับหมุนเวียน
3. หากมีการปลูกในพื้นที่ซ้ำ ใช้ไส้เดือนฝอย   (Steinernema thailandensi)  ฉีดพ่นหรือราดบนแปลงปลูกหลังจากย้ายกล้าเพื่อทำลายตัวหนอนที่อยู่ในดิน
4.  ใช้เชื้อแบคทีเรีย  Bacillus thrurigiensis

7. หนอนผีเสื้อกะหล่ำ / หนอนผีเสื้อขาว(Cabbage white)  ชื่อวิทยาศาสตร์: Pieris spp.
พืชอาหาร: พืชตระกูลกะหล่ำ
การจัดการแมลงชนิดนี้  ทำได้โดย
1. ใช้วิธีกล โดยเก็บกลุ่มไข่  ตัวหนอน ผีเสื้อตัวเต็มวัยออกทำลาย
2. ฉีดพ่นเชื้อ Bt  Bacillus thrurigiensis  เมื่อหนอนเพิ่งฝักออกจากไข่
3. ฉีดพ่นด้วยสารสกัดสะเดา

8. เพลี้ยอ่อน(Aphid)  ชื่อวิทยาศาสตร์: Myzus percicae (Sulzer)  Lipaphis erysimi (Kaltenbach)
พืชอาหาร: พืชตระกูลกะหล่ำ พืชตระกูลถั่ว พืชตระกูลแตง
การจัดการแมลงชนิดนี้  ทำได้โดย
1. การอนุรักษ์แมลงตัวห้ำ  เช่น  ด้วงเต่า แมลงช้างปีกใส ปล่อยในแปลง หรือแตนเบียนเพลี้ยอ่อน
2. ฉีดพ่นสารสกัดสะเดาหรือน้ำหมักยาสูบ
การเก็บเกี่ยว
                คะน้ามีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 45-55 วันหลังปลูก ซึ่งเป็นคะน้าที่โตเต็มที่ วิธีการตัดโดยใช้มีดคมตัดที่โคนต้นคะน้าสูงขึ้นมาประมาณ 5 เซนติเมตร
การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว  บรรจุภัณฑ์และ/หรือ  ช่องทางจำหน่าย
                การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว  เกษตรกรยังขาดความรู้อยู่พอสมควร  แต่ที่ปฏิบัติอยู่เก็บได้ไม่นาน  ส่วนใหญ่  ไม่เน้นเก็บไว้นาน  เก็บเสร็จล้างให้สะอาด  บรรจุถุงพลาสติก  เจาะรู  ถุงละ  5  กิโลกรัม  หรือ     10  กิโลกรัม  แล้วขนส่งตลาดทั่วไป  ซึ่งเป็นแผงประจำของผักอินทรีย์  ระยะทางขนส่งไม่ไกลจากแหล่งผลิตนัก  ไม่ได้ไปวางขายตาม  Green net  เนื่องจากปริมาณที่ปลูกมีไม่มาก  การขนส่งไกล  อาจไม่คุ้มกับการลงทุน  เพราะถ้าผลผลิตเหลือก็จะเป็นการสูญเปล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น