วันว่างๆๆๆๆๆๆ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

แนวทางการปลูก “พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่”

พริก เป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพสูงและมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย มีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ คาดว่าพื้นที่ปลูกพริกของเกษตรกรไทย

ในปัจจุบันนี้ มีรวมทั้งสิ้น 584,564 ไร่ รูปแบบของการใช้ประโยชน์จากพริกมีมากมาย ทั้งเพื่อการบริโภคสด ผลิตเป็นพริกแห้งหรือพริกป่น รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ นอกจากนั้น ยังใช้เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคบางชนิด


จากข้อมูลการสำรวจพบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยบริโภคพริกคนละ 5 กรัม/วัน หรือลองคำนวณคร่าวๆ ด้วยประชากรคนไทย 60 ล้านคน ก็จะประมาณได้ว่า คนไทยบริโภคพริกถึง 109,500,000 กิโลกรัม/ปี พื้นที่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “พริกขี้หนูหัวเรือ” มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากที่สุดโดยเฉพาะในเขตจังหวัดอุบลราชธานี แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกพริกสายพันธุ์นี้พบปัญหาเรื่องผลผลิตต่อไร่ต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เองและไม่มีการคัดเลือกสายพันธุ์

หลังจากที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ใช้เวลาประมาณ 7 ปี ในการคัดเลือกพันธุ์พริกหัวเรือแบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ สุดท้ายได้ทดสอบสายพันธุ์ในไร่ของเกษตรกร ได้พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บพันธุ์เองถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ขนาดของทรงพุ่มเล็กกะทัดรัด มีความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้น ประมาณ 80-90 เซนติเมตร เท่านั้น มีอายุการเก็บเกี่ยวเร็ว คือ 90 วัน หลังจากย้ายปลูกลงแปลง ที่สำคัญเป็นพริกที่มีขนาดผลสม่ำเสมอและให้ผลผลิตดกมาก มีความยาวของผลเฉลี่ย 7-8 เซนติเมตร จัดเป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีความเผ็ดมาก (คนอีสานเคยเล่าติดตลกว่า กินส้มตำใส่พริกหัวเรือเพียงผลเดียวกินเช้าเผ็ดถึงบ่าย)


นอกจากนั้น ยังจัดเป็นพริกขี้หนูที่มีกลิ่นหอม เมื่อผลแก่มีสีแดงสดใช้รับประทานสดหรือแปรรูปเป็นพริกขี้หนูแห้งจะได้พริกขี้หนูที่มีขนาดใหญ่และสวยมาก สำหรับเกษตรกรที่นำไปปลูกต่างก็ยอมรับว่าให้ผลผลิตดกมาก เมื่อมีการบำรุงรักษาที่ดีพอประมาณจะให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ได้ทดลองปลูก “พริกหัวเรือพันธุ์ใหม่” พบว่า เป็นพริกที่ให้ผลผลิตดี ติดผลดก ผลผลิตต่อไร่สูงมาก และที่สำคัญเป็นที่ต้องการของตลาด

เคล็ดลับกับการปลูกพริกหัวเรือพันธุ์ใหม่ให้ทันช่วงราคาสูง ต้องเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วม ดินดี มีความเป็นกรด-ด่าง  6-6.8 มีอินทรียวัตถุพอสมควร มีความร่วนซุยระบายน้ำได้ดี ไม่มีไส้เดือนฝอยรากปม เริ่มเพาะต้นกล้าพริกตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม เพื่อปลูกในเดือนกันยายน ซึ่งในช่วงดังกล่าวฝนจะตกชุกที่สุด จะทำให้ต้นกล้าพริกเน่า เพราะน้ำขังแปลงปลูก หรือดินแน่น โดยเกษตรกรจะมีทางเลือก 2 ทาง คือ เพาะต้นกล้าในกระบะพลาสติก (ถาดหลุม) ถาดละ 104 หลุม ราคาใบละ 18 บาท โดยเตรียมวัสดุเพาะใส่ถาดหลุม ประกอบด้วยดินผสม ได้แก่ ดิน : แกลบดำ : ปุ๋ยคอก = 4:1:1 นำดินผสมมารวมกับส่วนผสมของปุ๋ยหมักแห้ง+เชื้อไตรโคเดอร์ม่าสด + รำอ่อน อัตรา (100 กิโลกรัม+1 กิโลกรัม+5 กิโลกรัม)
อัตราดินผสม : ส่วนผสมของปุ๋ยหมักแห้ง = 4:1


เมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาเพาะต้องเป็นพันธุ์ดี ไม่มีโรคและแมลง ก่อนเพาะ 1 วัน ต้องนำไปแช่น้ำอุ่น  55 องศาเซลเซียส (น้ำเย็น 1 ส่วน+น้ำเดือด 1 ส่วน) นาน 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อแอนแทรกโนส (กุ้งแห้ง) ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้เมล็ดที่ลอยน้ำแสดงว่าลีบให้เก็บทิ้ง หลังจากนั้นนำไปแช่ในสารละลายสปอร์เชื้อไตรโคเดอร์ม่าสด (เชื้อสด 4 ถุง+น้ำ 100 ลิตร) แช่เมล็ด 1 คืน จึงเพาะในกระบะหลุมละ 1 เมล็ด กลบดิน เก็บถาดในที่ร่มรำไร หรือมีตาข่ายพรางแสง อย่าให้ถูกฝนโดยตรง

หลังจากงอกได้ 15 วัน พ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตรบำรุงต้นอัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร (พ่นทุก 7-10 วัน) จะทำให้ต้นโตเร็วขึ้น ไม่ควรใช้ยูเรีย เพราะต้นกล้าจะอวบเกินไป เมื่อต้นกล้าอายุ 1 เดือน หรือมีใบจริง 2-3 ใบ ก็นำมาปลูกได้ หรืออีกวิธีคือการเพาะต้นกล้าในแปลงที่อยู่ในที่ดอน ใช้ตาข่ายพรางแสง อย่าให้ถูกฝนโดยตรง
วิธีการเตรียมเมล็ดทำเหมือนเพาะในกระบะทุกอย่าง ส่วนวัสดุเพาะใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าสด ผสมปุ๋ยหมักแห้ง อัตรา 2-3 กิโลกรัม/10 ตารางเมตร ร่วมกับหว่านปูนขาว 0.5-1 กิโลกรัม/10 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน จึงหว่านเมล็ด โดยพื้นที่ 5 ตารางเมตร จะใช้เมล็ดพันธุ์พริกหว่านประมาณ 50 กรัม กลบดินให้เมล็ดจมดินทุกเมล็ด อย่าให้เมล็ดอยู่เหนือดิน เมื่ออายุ 1 เดือน หรือกล้าพริกมีใบจริง 2-3 ใบ จึงถอนไปปลูกได้


การปลูกพริก ไม่ควรปลูกเกิน วันที่ 15 กันยายน หลังเตรียมดินดีแล้ว พร้อมปรับสภาพดินโดยใส่ปูนขาวโดโลไมต์ อัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ ก่อนปลูกรองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้ง อัตรา 150-200 กิโลกรัม/ไร่ (ผสมปุ๋ยหมักแห้ง 100 กิโลกรัม+เชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม+รำ 5 กิโลกรัม) ซึ่งเกษตรกรที่นิยมปลูกแบบปักดำ กดรากลงในดินจะทำให้โคนต้นกล้าพริกช้ำง่าย ต้นกล้าจึงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน ถ้าต้องการให้ต้นกล้าดูดอาหาร แตกกิ่งได้เร็วขึ้นควรปลูกแบบหลุม และยกร่องเพื่อป้องกันน้ำขัง ในหลุมรองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้ง (ผสมปุ๋ยหมักแห้ง 100 กิโลกรัม+เชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม+รำ 5 กิโลกรัม) อัตราหลุมละ 100 กรัม ก่อนปลูกแช่รากพริกด้วยเชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม ละลายในน้ำ 100 ลิตร แช่นาน 30 นาที จนกว่าจะปลูกเสร็จ (ถ้าปลูกไม่เสร็จ ให้ละลายเชื้อใหม่อย่าแช่รากทิ้งไว้)

การปลูกแบบหลุมเมื่อรากฟื้นตัวจะดูดอาหารได้ทันที และป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่าด้วย ซึ่งในฤดูฝนเสี่ยงต่อโรคในดินหลายชนิด ควรฉีดสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเป็นระยะๆ หรือตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโตของพริก

การดูแลรักษาพริกหัวเรือพันธุ์ใหม่ หลังปลูก 15 วัน พ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตรบำรุงต้น อัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร (พ่นทุก 7-10 วัน จนออกดอก) พ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตรบำรุงผล อัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร (พ่นทุก 7-10 วัน จนถึงเก็บเกี่ยว) พ่นแคลเซียมไนเตรต (15-0-0) อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในช่วงติดผลเล็กเพื่อแก้ปัญหาเกิดผลนิ่ม ปลายผลเหี่ยวเนื่องจากการขาดธาตุแคลเซียมและป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคกุ้งแห้งเข้าทำลายซ้ำ พ่นสปอร์เชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม+น้ำ 200 ลิตร ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพทุก 1 เดือน ถ้ามีไร โรค แมลงศัตรูทำลาย ให้ใช้สารเคมีตามความเหมาะสมหรือพ่นสลับกับน้ำหมักสมุนไพร

พริก เป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากเกินไป ฉะนั้น ก่อนให้น้ำควรตรวจดูดินบริเวณโคนต้น ดังนี้ ในดินร่วนปนทราย ทำโดยกวาดดินออก ประมาณ 1 นิ้ว แล้วขุดเอาดิน ประมาณ 1 กำมือ บีบแล้วคายออก จากนั้นตรวจดูดินหลังจากคายแล้ว ถ้าดินมีความชื้นน้อยไป ก้อนดินมีความชื้นน้อยไป ก้อนดินจะแตกหลังคายมือออก ถ้าดินมีความชื้นพอเหมาะจะจับตัวเป็นก้อน และถ้าดินมีความชื้นสูงเกินไป จะมีน้ำไหลออกมาตามช่องนิ้วมือ

ในสภาพดินเหนียว การตรวจสอบความชื้นแตกต่างไปจากสภาพดินทราย ทำโดยนำเอาดินที่จะตรวจสอบมาปั้นเป็นแท่งยาวคล้ายดินสอ ให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ถ้าไม่สามารถปั้นได้ แสดงว่าความชื้นน้อยไป ถ้าปั้นได้แต่ขาดเป็นช่วงๆ แสดงว่าความชื้นพอเหมาะ ถ้าปั้นได้แต่ไม่มีการขาด แสดงว่าความชื้นสูงไป ทั้งในดินร่วนปนทรายและดินเหนียว ถ้ามีความชื้นสูงเกินไปให้แก้ไขโดยการพรวนดิน ซึ่งจะช่วยให้น้ำระเหยออกจากดินได้


ส่วนในกรณีที่ดินแห้งเกินไปและไม่อาจให้น้ำได้ ก็ควรใช้วัตถุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว เปลือกถั่ว ต้นถั่ว หรือใช้พลาสติกคลุมแปลง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยรักษาความชื้นในดินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการป้องกันวัชพืชไม่ให้ขึ้นด้วย
การกำจัดวัชพืชและการพรวนดินหลังจากปลูกพริกแล้ว เมื่อพริกมีอายุประมาณ 20 วัน ควรกำจัดวัชพืชที่งอกขึ้นมาและถ้าตรวจพบว่าพื้นที่ปลูกพริกดินจับตัวกันแน่น ก็ให้พรวนดิน เพราะถ้าดินแน่นจะทำให้พริกแคระแกร็นได้ การให้ปุ๋ยระยะ 1 เดือนแรก ก็ให้ทางดินร่วมกับทางใบเป็นหลัก โดยการให้ทางดิน ก็ให้สูตร 46-0-0 สลับกับ 15-0-0 หรือ 15-15-15 ในเดือนแรก ในอัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง แต่ไม่เกิน 10 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง ห่างกัน 7 วัน ส่วนทางใบ ใช้สูตร 21-21-21 สลับ 30-20-10 เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ในอัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ระยะเดือนที่ 2-3 ระยะนี้พริกมีอายุ 30-90 วัน ซึ่งมีการติดผลของพริกในชุดแรก ธาตุอาหารทางดินและทางใบยังจำเป็นเหมือนเดิม ทางดินใช้สูตร 15-15-15 สลับ 13-13-21 ส่วนทางใบ ใช้สูตร 15-0-0 เพื่อเพิ่มธาตุแคลเซียมในช่วงติดผลเล็ก ในอัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

ระยะเดือนที่ 4-6 ระยะนี้ พริกมีอายุ 120-180 วัน ซึ่งมีการเก็บผลผลิตของพริกในชุดแรกเก็บได้มาก ธาตุอาหารทางดินและทางใบยังจำเป็นเหมือนเดิม ทางดินใช้สูตร 15-15-15 สลับ 13-13-21 ร่วมกับปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโคเดอร์ม่าสด อัตรา 1:25 ส่วนทางใบ ใช้สูตร 21-21-21 สลับ 10-20-30 ในอัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ให้ปุ๋ยทุกครั้งหลังเก็บผลผลิตจำหน่าย

การเก็บเกี่ยว จะเริ่มทำได้เมื่อพริกอายุ 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือน เด็ดทีละผล โดยจิกเด็ดที่รอยต่อก้านผลกับกิ่ง ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับชนิดและความสมบูรณ์ของต้นพริกเอง

   การทำปุ๋ยหมักแห้ง    1. ปุ๋ยคอก 3 ส่วน+แกลบดิบเก่า 3 ส่วน+แกลบดำ 1 ส่วน+กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ
2. ปุ๋ยคอก 400 กิโลกรัม+แกลบดิบเก่า 100 กิโลกรัม+รำอ่อน 30 กิโลกรัม+กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ
3. ปุ๋ยคอก 3 ส่วน+กากถั่วเหลือง 3 ส่วน+แกลบดิบเก่า 2 ส่วน+แกลบดำ 1 ส่วน+กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ (10 ลิตร ต่อปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม)
4. ปุ๋ยคอก 3 ส่วน+กากตะกอนอ้อย 2 ส่วน+แกลบดิบเก่า 2 ส่วน+แกลบดำ 1 ส่วน+กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ (10 ลิตร/ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม)


วิธีทำ ผสมน้ำหมักชีวภาพและกากน้ำตาลในน้ำ ใส่บัวรดบนส่วนผสมที่มีปุ๋ยคอก แกลบ รำ โดยวนจากข้างนอกเข้าข้างใน อย่าให้แฉะ ถ้าแฉะมากความร้อนจะสูงและเป็นก้อน และอย่าแห้งเกินไป (กำปุ๋ยหมัก ถ้าเป็นก้อนความชื้นพอดี ถ้าแผ่กระจายจะแห้งเกินไป) หลังทำแล้ว 8 ชั่วโมง ความร้อนในกองปุ๋ยจะสูงมาก ให้กลับปุ๋ยในกองทุกวัน ประมาณ 7-10 วัน ความร้อนในกองจะปกติเก็บใส่ถุงไว้ใช้ต่อไป หรือถ้ามีถุงปุ๋ยให้กรอกใส่ถุงเลย เพื่อความสะดวกในการกลับกระสอบปุ๋ยหมักและการขนย้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น